ตัวชี้วัดทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญต่อการพยากรณ์ราคา : Inflation rate

จากบทความก่อนหน้านี้ เราเคยพูดถึงปัจจัยสำคัญทางพื้นฐาน (Fundamental) ที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวราคาไว้แล้ว โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญดังกล่าว ก็คือ Government Policy หรือ นโยบายรัฐบาล

ในบทความดังกล่าวนั้นเราได้ทำความรู้จักกับผลกระทบของนโยบายรัฐบาลต่อทิศทางของราคาไปแล้วอย่างคร่าวๆ ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกมากขึ้น เกี่ยวกับสัญญาณหรือกระบวนการก่อนที่จะมีการออกนโยบายดังกล่าวออกมา เพื่อที่เราจะสามารถดักทางราคาได้ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศนโยบายออกมา ที่เราจำเป็นต้องรู้สัญญาณล่วงหน้า นั่นก็เพราะว่า ในจังหวะที่รัฐบาลประกาศตัวเลขออกมานั้น ราคาจะปรับตัวอย่างรุนแรง จนบางครั้งกว่าที่เราจะได้เข้าซื้อขาย ราคาก็อยู่ในช่วงปลายของการเคลื่อนไหวแล้ว ทำให้เราไม่สามารถทำกำไรได้มากเท่าที่ควร หรืออาจจะไม่สามารถทำกำไรได้เลย

VK-inflation rate

สัญญาณอัตราเงินเฟ้อ (Inflation rate)

อัตราเงินเฟ้อ (Inflation rate) นั้นจัดว่าเป็นตัวชี้วัดที่มีผลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ ในระบบเศรษฐกิจที่มีความเจริญเติบโตนั้นเราจะพบว่าระดับราคาจะปรับตัวสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ นั่นแปลว่า การมีเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจคือการบอกถึงสภาพเศรษฐกิจที่มีการหมุนเวียนของทรัพยากรอย่างเหมาะสม ประชากรในประเทศมีการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค ภาคธุรกิจมีการลงทุนในโครงการใหม่ๆ รวมถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆให้แก่ประชากรในประเทศด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ระบบเศรษฐกิจที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงเกินไป จะทำให้ค่าเงินที่ถือไว้ในปัจจุบันลดค่าลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม ธนาคารไม่อยากปล่อยกู้ให้หน่วยธุรกิจนำเงินไปลงทุน เนื่องจากเงินในปัจจุบันจะถูกลดค่าอย่างรวดเร็วในอนาคต ผู้บริโภคไม่อยากซื้อสินค้าเนื่องจากมีราคาแพง ทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงักได้ในหลายทาง

วิธีการลดอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลาง

ในภาวะที่ธนาคารกลางเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อมีค่าสูงเกินไป จนอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้ ธนาคารกลางในตัวเลือกในการออกนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) 3 แบบ ดังนี้

  1. ปรับ Reserve Ratio ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

Reserve ratio คือ อัตราเงินสำรองที่ธนาคารกลางกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจำเป็นต้องสำรองเงินส่วนนี้ไว้จากเงินฝากของลูกค้าธนาคาร นั่นคือ เงินฝากของลูกค้าธนาคารจะไม่สามารถถูกนำไปปล่อยกู้ได้เต็ม 100%

ในสถานการณ์เงินเฟ้อ ธนาคารกลางจะปรับ Reserve Ratio ให้เพิ่มขึ้น เพราะเมื่ออัตราเงินสำรองส่วนนี้มีการปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ธนาคารพาณิชย์จะสามารถออกเงินกู้ได้น้อยลง ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบน้อยลง อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น

  1. ขายพันธบัตรรัฐบาล เพื่อลดปริมาณเงิน (Money Supply) ในระบบเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับการปรับอัตราเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ การขายพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารกลางนั้นก็มีจุดประสงค์เพื่อลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

  1. ปรับ Discount rate ในการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลาง

เมื่อธนาคารปรับ Discount Rate เพิ่มขึ้น จะทำให้การกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องลดการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลาง ส่งผลให้ปริมาณเงินที่สามารถนำมาปล่อยกู้ให้ลูกค้าธนาคารลดน้อยลง ปริมาณเงิน (Money Supply) ลดลง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น

จากบทความด้านบน เราจะเห็นว่า ในสถานการณ์ที่เกิดเงินเฟ้อขึ้นในประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือการลดปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เมื่อมีการลดปริมาณเงิน อัตราดอกเบี้ยในการลงทุนก็จะสูงขึ้น โอกาสที่ค่าเงินของประเทศจะสูงขึ้น เนื่องจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากต่างชาติก็จะมีสูงขึ้นด้วย

การจับสัญญาณอัตราเงินเฟ้อ ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

โดยปกติแล้ว การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อนั้น การประกาศตัวเลขจะมีทั้ง อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน และอัตราเงินเฟ้อที่ตั้งเป้าไว้ เช่น จากเว็บไซต์ของธนาคารกลางของ U.S. เราจะพบว่า ธนาคารกลางของ U.S. ได้ตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปีไว้ที่ 2%

fed

รูปภาพจากเว็บไซต์ธนาคารกลาง U.S. มีการตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อของแต่ละปีไว้ที่ 2%

การพิจารณาหาสัญญาณซื้อขายจากอัตราเงินเฟ้อนั้น ให้เราเปรียบเทียบระหว่างอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ต้น กับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริง เช่น ธนาคารกลางได้ตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อของปีนี้ไว้ที่ 2% แต่ในไตรมาสที่ 3 (ซึ่งเหลือเพียงอีกไตรมาสเดียวก็จะจบปีแล้ว) อัตราเงินเฟ้อของประเทศกลับมีค่าเกือบ 5% สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ธนาคารกลางเริ่มเพ่งเล็งและเตรียมตัวออกมาตรการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่กำหนดไว้

นักลงทุนจำนวนมากมักจะรอให้ธนาคารกลางประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแล้วค่อยเข้าซื้อ แต่อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้วข้างต้น หากรอจนถึงขั้นตอนนั้น ก็ไม่แน่ว่าเราจะเข้าซื้อได้ทันในช่วงที่ราคากำลังปรับตัวอย่างรุนแรง ดังนั้น นักลงทุนที่รู้กลไกและความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อกับมาตรการของธนาคารกลาง จะเริ่มเตรียมตัวเข้าซื้อตั้งแต่ตอนที่มีการประกาศอัตราเงินเฟ้อออกมา

 

 

ทีมงาน : www.thaibrokerforex.com

เขียนโดย

Alisa William

ผู้ตรวจทานความถูกต้อง

Chonthicha Poomidon