ทฤษฎีพฤติกรรมราคา : สรุปทฤษฎีพฤติกรรมราคา
ในบทนี้ผมจะสรุปเรื่องราวเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีพฤติกรรมราคาของ Forex ตั้งแต่ต้นเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายภายในบทความเดียว ว่ามันเริ่มจากตรงไหนและจบตรงไหน แต่ก่อนจะสรุป ต้องขอธิบายเพิ่มเติมจากบทความก่อนหน้าก่อนว่า การใช้เครื่องมือ Equidistance นั้นเป็นเพียงวิธีการตัวอย่าง และเป็นตัวอย่างเดียว ท่านสามารถออกแบบเครื่องมือและอุปกรณ์ในการเทรดของท่านเองได้ สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อคือ การออกแบบเครื่องมือต้องมีเหตุและผลในการออกแบบ ไม่ใช่ว่า ใช้และอ้างตามคนอื่นมา มันทำให้เราไม่รู้ว่ามันจะใช้ได้ผลหรือไม่ มันทำให้เราไม่ทราบข้อจำกัดของเครื่องมือ
สรุปทฤษฎีพฤติกรรมราคา
หลักการ
การกำหนดทฤษฎีที่เป็นพฤติกรรมราคาของผม ใช้หลักการของสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ นั่นคือหลักการล่าในธรรมชาติ โดยใช้ทุ่งหญ้าสะวันน่ามาเป็นเกณฑ์ในการยึดถือ เพราะว่า การล่าในตลาดไหน ๆ ที่ไหน ๆ ก็ไม่แตกต่างกันมาก ดังนั้น เราสามารถใช้หลักการอะไรก็ได้มาประยุกต์ในการเทรด ดังที่เคยเห็นการใช้ หลักการสงครามของกลยุทธ์ซุนจื่อ ในการทำธุรกิจ การใช้กลยุทธ์ที่ปรากฏในสามก๊กในเชิงการเมือง ในเชิงธุรกิจ การใช้กลยุทธ์ที่ปรากฏในการเล่นโกะ ก็สามารถนำมาใช้ในเชิงธุรกิจด้วย หรือแม้แต่กลยุทธ์ จากหนังสือคัมภีร์ 5 ห่วงของมิยาโมโตะ มุซาชิ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน
หลักการที่ปราฏกในธรรมชาติ เช่น หลักการไหลของน้ำ หลักการเคลื่อนที่ของแรง ขอเพียงมันสมเหตุสมผลและสามารถเปรียบเทียบกลับได้ชัดเจนก็สามารถนำมากำหนดหลักการได้ทั้งนั้น
วิธีการ
ในบทความที่ผ่านมาเรื่องการกำหนดหลักการมาจากหลักของธรรมชาติ หลังจากที่เราเลือกหลักการได้แล้ว เราก็สามารถกำหนดวิธีการของเราจากหลักการที่เราได้เลือก ในตัวอย่างผมได้กำหนดกลุ่มของคนที่อยู่ในตลาดมี 6 กลุ่ม โดยให้คล้ายคลึงกับองค์ประกอบของนักล่าและเหยื่อที่ปรากฏในทุ่งหญ้าสะวันน่า ซึ่งเรากำหนดว่าเรามีลักษณะของเทรดเดอร์ที่มีลักณะแบบไหน คล้ายคลึงกับตัวละครในทุ่งหญ้าสะวันน่าตัวไหน เมื่อเรากำหนดตัวละครที่เราเป็นเหมาะกับ Characters ของเราจะทำให้เราทราบว่า เราจะสามารถเรียนรู้การล่า จากสิ่งเหล่านั้น เช่น เสือล่าเป็นเวลา ล่าเหยื่อที่อ่อนแอ โอกาสชนะสูง มีอาวุธในการล่าที่มีประสิทธิภาพ
เราก็จะได้ กลยุทธ์การเทรด จากวิธีการ การสร้างอาวุธในการเทรด จากหลักการเหล่านี้ทำให้เรารู้จักวิเคราะห์ปรับปรุงผลของการประยุกต์ใช้ข้อมูลเหล่านั้น เมื่อเรากำหนดสิ่งเหล่านี้มาแล้ว เราก็ต้องมาทำการประมาณการต่อไป
การประมาณการ
หลักสุดท้ายเป็นหลักที่ไม่สำคัญที่สุดคือ หลักของการประมาณการ การประมาณการเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญเท่าไหร่ในการเทรด แต่ว่าแตกต่างจากโลกของการเทรดที่ผมรู้จัก การประมาณการมันก็คือ Indicator ที่เราใช้นั่นแหละส่วนใหญ่มาจากการประมาณการ การพยากรณ์เท่านั้น คนส่วนใหญ่กลับให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก ทั้งที่สิ่งที่ควรจะสนใจมากกว่า คือ หลักการ และ วิธีการ ส่วนการประมาณการนั้น ไม่ควรให้ความสนใจเพราะว่า มันคือการกะเกณฑ์ การเดาเอา จากข้อมูล ไม่เที่ยงตรงด้วยซ้ำ
การมัวแต่ใช้ Indicator ในการเทรด ซื้อขาย Forex โดยไม่มีหลักการเหตุผลมารองรับการกระทำ ไม่มีแผนการในใจอะไรเลย จึงเป็นการที่สุ่มเสี่ยงมาก โดยไม่มีหลักการและวิธีการรองรับ มีแต่อารมณ์ล้วน ๆ
การประมวลผล
ถ้าได้ออกแบบทั้ง 3 ขั้นตอนมาแล้วก็ควรจะทำการปรับปรุงประมวลผลของการลงทุนว่า ดีพอหรือยัง หรือว่าสามารถปรับปรุงให้มันดีขึ้นอีกได้ การกระทำในขั้นตอนนี้หลายคนก็อาจจะบอกว่าคล้ายคลึงกับการทำ Trading Journal ซึ่งก็คล้ายคลึงกัน แต่เพียงแต่ผมเห็นจากเทรดเดอร์ในบอร์ดหลายคน แม้แต่แบบฟอร์มบันทึกการเทรดยังขอลอกการบ้านจากคนอื่นเลย แล้วมันจะเหมือนกันได้อย่างไร แบบฟอร์มที่ออกแบบมาเฉพาะของเขาจะใช้ได้กับของเราได้อย่างไร เราจะปรับปรุงการเทรดของเราได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ต้องบันทึกมันยังไง ใช้มันตอนไหน แม้แต่คิดเองยังไม่เป็นเลย
สรุปทฤษฎีพฤติกรรมราคา ทุ่งหญ้าสะวันน่า
รูปที่ 1 แสดงกรอบโครงสร้างทฤษฎีราคา
จากรูปที่ 1 จะเห็นว่าผมเลือกที่จะสร้างวิธีการล่าจากสัตว์ล่าเดี่ยวเพราะว่า ผมเทรดคนเดียว ไม่มีองค์กร ทฤษฎีของผมจึงเลือกใช้ให้เข้ากับประเภทของผม ถ้าผมจะเห็นผู้ล่าประเภทอื่น ผมก็จะแตกวิธีการ และ การประมาณการจากช่องอื่น เช่น ถ้าผมเทรดกันเป็นกลุ่มผมก็จะแตกวิธีการออกจากสิงโต กรณีที่ผมเป็นเจ้าป่า และผูกขาดอำนาจ การล่า ถ้าผมเป็นหมาป่า ผมก็ต้องเกรงใจสิงโต นั่นจึงเป็นสิ่งที่เรียกว่าสมเหตุสมผล ดังนั้น การแตกทฤษฎีของคุณเพื่อนำมาใช้นั้นต้องถูกจริต และไม่ได้หมายความว่า จะต้องใช้ Equidistance เหมือนที่ผมใช้เท่านั้น คุณสามารถใช้เครื่องมือใดก็ได้ ที่คิดว่าตอบโจทย์ของหลักการ และวิธีการของคุณมากที่สุด
Keywords: พฤติกรรมราคา ทฤษฎีตลาด Forex หลักการเทรด Forex
ทีมงาน : thaibrokerforex.com