เทคนิคการเล่นด้วยอินดิเคเตอร์ ADX (Average Directional Index) : Part 2
บทความฉบับนี้เราจะมาพูดถึงการใช้อินดิเคเตอร์ ADX ในการเล่นอีก จากบทความฉบับก่อนหน้าที่ได้พูดถึงการใช้ประโยชน์จาก อินดิเคเตอร์ ADX ในการวัดความแข็งแกร่งของแนวโน้ม หลายคนอาจจะเข้าใจว่า ADX มีประโยชน์แต่เพียงเท่านั้น แต่นั่นคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดกัน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดบทความฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อเสริมเทคนิคการเล่นด้วย ADX เพิ่มเติม เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำอินดิเคเตอร์ตัวนี้ไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายยิ่งขึ้น
ADX กับการหาจุด Climax ของราคา
นอกจาก ADX จะสามารถใช้วัดความแข็งแรงของแนวโน้มได้แล้ว ADX ยังสามารถนำไปใช้เพื่อหาจุด Climax หรือจุดต่ำสุดหรือจุดสูงสุดของรอบการเคลื่อนไหวได้ด้วย โดยนิยมใช้ในเพื่อหาจุดต่ำสุดหรือสูงสุดในรอบใหญ่ในระดับ weekly chart โดยหาก ADX มีค่าอยู่บริเวณใกล้ 60 มีความเป็นไปได้สูงที่บริเวณนั้นจะเป็นจุดต่ำสุดหรือจุดสูงสุดของรอบการเคลื่อนไหวนั้น ดังรูปด้านล่าง
รูปที่ 1 ADX อยู่บริเวณ 60 ในแนวโน้มขาขึ้น
จากรูปที่ 1 จะเห็นว่าราคาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ADX ให้ค่าบริเวณ 60 ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกนั้นตลาดไม่ได้ตอบสนองโดยการปรับตัวลดลง แต่ตลาดเคลื่อนไหว sideway เพื่อลดความร้อนแรงของการปรับตัวขึ้น ส่วนในครั้งที่ 2 นั้น ราคาปรับตัวลดลงทันที
รูปที่ 2 ADX อยู่บริเวณ 60 ในแนวโน้มขาลง
จากรูปที่ 2 จะเห็นว่าราคาอยู่ในแนวโน้มขาลง ADX อยู่บริเวณ 60 หลังจากนั้นราคาก็รีบาวน์ขึ้นทันที
ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วการหาจุดต่ำสุดหรือสูงสุดของรอบมักใช้กับในแนวโน้มใหญ่หรือระดับ weekly chart แต่นักลงทุนสามารถนำเทคนิคนี้มาใช้ใน timeframe ที่สั้นลง คือระดับ daily chart ได้เช่นกัน
รูปที่ 3 นำ ADX มาประยุกต์ใช้ใน daily chart
จากรูปที่ 3 จะเห็นว่าราคาเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทันทีเมื่อ ADX เข้าสู่ระดับ 60
จากตัวอย่างทั้งหมดข้างต้นทำให้เราสามารถนำ ADX มาใช้เป็นกลยุทธ์การซื้อขายได้ดังนี้คือ หาก ADX มีค่าอยู่บริเวณ 60 หมายถึงการตลาดใกล้จะจบแนวโน้มแล้ว นักลงทุนควรหยุดใช้เทคนิคการซื้อขายแบบตามเทรน และสำหรับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญสามารถเล่นสวนเทรนได้
ADX กับการหาสัญญาณ Divergence
นักลงทุนหลายท่านอาจคุ้นเคยกันดีในการหาสัญญาณ Divergence ในอินดิเคเตอร์ RSI, MACD และ Stochastic แต่หลายท่านอาจไม่รู้ว่า ADX สามารถบอกสัญญาณ Divergence ได้เช่นกัน เนื่องจาก ADX เป็นอินดิเคเตอร์ที่ใช้วัดความแข็งแกร่งของแนวโน้ม ค่า ADX ที่เพิ่มขึ้นหมายถึงแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นและค่า ADX ที่ลดลงหมายถึงแนวโน้มอ่อนแรงลง ดังนั้นแนวโน้มที่แข็งแกร่งควรมีค่า ADX ที่ปรับเพิ่มขึ้นตาม แต่หาก ADX กลับมีค่าลดลงจะเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มได้อ่อนแรงลงแล้ว การปรับตัวที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างราคาและ ADX เราเรียกกันว่า Divergence
รูปที่ 1 ADX Bearish Divergence
จากรูปที่ 1 ราคาได้ขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมอีกครั้ง แต่ ADX ไม่ได้ปรับตัวขึ้นตาม เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแรงลงของแนวโน้มขาขึ้น แนวโน้มของราคาจึงเปลี่ยนจากแนวโน้มขาขึ้นเป็นแนวโน้มขาลงในระยะถัดมา
รูปที่ 2 ADX Bullish Divergence
จากรูปที่ 2 ราคาปรับตัวลงมาเกิดจุดต่ำสุดใหม่ แต่ ADX ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแรงลงของแนวโน้มขาลง แนวโน้มของราคาจึงเปลี่ยนจากแนวโน้มขาลงเป็นแนวโน้มขาขึ้นในระยะถัดมา
ทีมงาน : www.thaibrokerforex.com