ในความเป็นจริงของการเทรดนั้น เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจแนวโน้ม (Trend) ของราคาสินทรัพย์ที่เราเทรดอยู่ เพราะมันถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเข้า Position ได้อย่างไม่ลังเลและเข้าไปถูกจังหวะ โดย IndY หนึ่งที่ได้รับการยอมรับและนิยมใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มเทรดเดอร์ทางเทคนิคก็คือ Commodity Channel Index (CCI) ครับ

CCI นับว่ามีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์แนวโน้มของราคา ดังนั้นบทความนี้ผมจะอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคากับแนวโน้มผ่านมุมมองของ CCI รวมถึงวิธีการใช้งานเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเทรด

ทำความรู้จักกับ CCI กันเถอะ!

Commodity Channel Index (CCI) เป็น Indicator ทางเทคนิคประเภทหนึ่งที่คิดค้นโดย Donald Lambert ในปี 1980 โดยในตอนแรก CCI ได้รับการออกแบบมาเพื่อตรวจสอบ Trend ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Market) แต่ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์แนวโน้มที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เครื่องมือนี้ถูกนำไปใช้ในตลาดอื่น ๆ เช่น ตลาดหุ้น ฟอเร็กซ์ และคริปโตเคอร์เรนซี เป็นต้น

CCI ยังถือว่าเป็นเครื่องมือประเภท Oscillator ซึ่งมีค่าเคลื่อนไหวในรูปแบบตัวเลขที่ไม่มีขอบเขตตายตัว (Unbounded Indicator) โดยค่าหลักของ CCI มักจะอยู่ในช่วง -100 ถึง +100 และสามารถเกินขอบเขตนี้ได้หากราคาเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงครับ

รูปที่ 1 ตัวอย่างหน้าตาของ CCI indicator ที่โคตรจะใช้ง่ายเลย ใครมีพื้นฐาน RSI เดิมๆ มาแล้วก็สบายเลยครับ

CCI คำนวณจากอะไร

สมการที่ใช้คำนวณค่า CCI ไม่ซับซ้อนครับ ซึ่งมันจะอิงจากค่า Moving Average ด้วย ดังนั้นใครอยากเข้าใจลึกซึ้ง ผมแนะนำให้ลองอ่านบทความ Moving Average จาก Link นี้ก่อนได้เลยครับ

CCI = (TP-SMA) / 0.015* Mean Deviation

  • TP (Typical Price) = (ราคาสูงสุด + ราคาต่ำสุด + ราคาปิด) ÷ 3
  • SMA (Simple Moving Average) = ค่าเฉลี่ยของ TP ในช่วงเวลาที่กำหนด
  • Mean Deviation = ค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ยของ TP จากค่า SMA
  • ตัวคูณ 0.015 ถูกนำมาใช้เพื่อลดค่าสเกลให้อยู่ในระดับมาตรฐาน

ค่าที่ได้จากสูตรนี้จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจว่าราคาปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาที่กำหนด

ความสัมพันธ์ของราคากับแนวโน้มผ่านมุมมองของ CCI

CCI เป็นตัวบ่งชี้ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง ราคาปัจจุบัน และ ค่าเฉลี่ยของราคาในอดีต โดยนักลงทุนสามารถนำค่าที่ได้มาวิเคราะห์แนวโน้มของตลาด ดังนี้:

การระบุแนวโน้ม (Trend Identification)

  • ค่า CCI ที่อยู่เหนือ +100: เมื่อค่า CCI สูงกว่า +100 หมายความว่าราคาปัจจุบันมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ มันสะท้อนถึงตลาดที่อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น (Bullish Trend) ซึ่งเป็นสัญญาณให้นักลงทุนพิจารณาเปิดสถานะ ซื้อ (Buy)
  • ค่า CCI ที่ต่ำกว่า -100: หากค่า CCI ต่ำกว่า -100 หมายถึงราคาปัจจุบันต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอย่างมาก มันจะสะท้อนถึงตลาดที่อยู่ในแนวโน้มขาลง (Bearish Trend) ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาเปิดสถานะ ขาย (Sell)

การตรวจจับสภาวะ Overbought และ Oversold

  • Overbought (ภาวะซื้อมากเกินไป): หากค่า CCI สูงกว่า +200 อาจหมายความว่าราคาสินทรัพย์มีการซื้อที่มากเกินไปและอาจเผชิญกับแรงขายหรือการปรับฐาน (Price Correction)
  • Oversold (ภาวะขายมากเกินไป): หากค่า CCI ต่ำกว่า -200 บ่งบอกว่าสินทรัพย์นั้นอยู่ในภาวะขายมากเกินไปและอาจเกิดแรงซื้อกลับมาในอนาคตอันใกล้

สัญญาณ Divergence (สัญญาณความขัดแย้งระหว่างราคาและ CCI)

Divergence เกิดขึ้นเมื่อทิศทางของราคาและ CCI ขัดแย้งกัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงTrend

  • Bullish Divergence: เกิดขึ้นเมื่อราคาทำจุดต่ำสุดใหม่ (Lower Low) แต่ CCI ทำจุดต่ำสุดที่สูงขึ้น (Higher Low) ซึ่งบ่งบอกถึงโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นในอนาคต
  • Bearish Divergence: เกิดขึ้นเมื่อราคาทำจุดสูงสุดใหม่ (Higher High) แต่ CCI กลับทำจุดสูงสุดที่ต่ำลง (Lower High) ซึ่งเป็นสัญญาณว่าราคาอาจปรับตัวลง

รูปที่ 2 ตัวอย่างหา Divergence ด้วย CCI indicator

การใช้งาน CCI ในกลยุทธ์การเทรด

การใช้งาน CCI สามารถผสมผสานเข้ากับกลยุทธ์การลงทุนได้หลากหลายวิธี เช่น

  • การเทรดตามแนวโน้ม (Trend Following Strategy): นักลงทุนสามารถใช้ CCI เพื่อยืนยันแนวโน้มหลักของตลาด โดยในตลาดขาขึ้น ค่า CCI มักเคลื่อนไหวในโซนบวก (+100 ขึ้นไป) และในตลาดขาลง ค่า CCI มักเคลื่อนไหวในโซนลบ (-100 ลงไป)
  • การหาโอกาสซื้อขายในจุด Overbought และ Oversold: เข้า Buy เมื่อ CCI ข้ามระดับ -100 กลับขึ้นมา และให้เข้า Sell เมื่อ CCI ข้ามระดับ +100 ลงมา
  • การใช้ CCI กับ Indicator ตัวอื่น เช่น Moving Average (MA) เพื่อนช่วยยืนยันแนวโน้มระยะยาว หรือ Relative Strength Index (RSI) เพื่อช่วยตรวจสอบจุด Overbought และ Oversold ครับ
  • การวิเคราะห์หลาย Time Frame โดยเราสามารถใช้ CCI ในกรอบเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ใช้ CCI ใน Time Frame รายวันเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มใหญ่ และ ใช้ CCI ใน Time Frame รายชั่วโมงเพื่อหาโอกาสเข้าซื้อในระยะสั้น

ข้อดีของ CCI:

  1. ใช้งานง่าย และเหมาะสำหรับเทรดเดอร์มือใหม่
  2. มีความยืดหยุ่น สามารถใช้ได้ในตลาดหลายประเภท
  3. มีประโยชน์ทั้งในตลาดที่มีแนวโน้ม (Trending Market) และตลาดที่เคลื่อนไหวแบบ Sideways

ข้อจำกัดของ CCI:

  1. สัญญาณผิดพลาด (False Signals) อาจเกิดขึ้นในตลาดที่มีความผันผวน
  2. ไม่สามารถบอกจุดเปลี่ยนแนวโน้มได้อย่างชัดเจนในทุกสถานการณ์
  3. ต้องใช้งานร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ

ตัวอย่างกลยุทธ์ที่เทรดตาม Trend

กลยุทธ์นี้เราจะใช้ CCI ควบไปกับ Simple Moving Average กันครับ โดยตั้ง Period ของ SMA ให้เป็น 100 เพื่อลดสัญญาณรบกวนอื่น ๆ ให้น้อยลง การใช้กลยุทธ์ CCI + SMA เหมาะสำหรับการเทรดระยะสั้น โดยเปิดคำสั่งเมื่อราคาย้อนกลับ (Retrace) จากเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ในกรณีนี้ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่จะทำหน้าที่เป็นเส้นแนวรับ/แนวต้านครับ Time Frame ที่เหมาะสมสำหรับการเทรด คือ M15 แต่สามารถเพิ่มการเทรดแบบ Scalping ในกรอบเวลา M5 ได้เช่นกัน โดยการเปิด Position สามารถทำได้ดังนี้ครับ:

  • เมื่อ CCI ออกจาก Oversold Zone และเส้นราคาตัดผ่านกราฟเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่จากด้านล่างขึ้นด้านบน ให้เปิดคำสั่งซื้อ (Buy)
  • เมื่อ CCI ตัดผ่านระดับ +100 จากด้านล่างขึ้นด้านบน และเส้นราคาตัดผ่านเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน ให้เปิดคำสั่งขาย (Sell)

รูปที่ 3 ตัวอย่างกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ใครถนัด Scalping จัดเลยครับ

คำเตือนความเสี่ยงในการเทรด Forex ด้วยกลยุทธ์ CCI + MA

  • ความผันผวนของตลาด: ตลาด Forex มีความผันผวนสูง ราคาสามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้สัญญาณจากกลยุทธ์ CCI + MA ไม่แม่นยำเสมอไป ส่งผลให้เกิดการขาดทุนได้ ทั้งนั้นอย่าลืมไป BackTest ให้ชัวร์ก่อนนะ
  • สัญญาณหลอก (False Signals): CCI และ SMA อาจให้สัญญาณหลอก โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดไม่มี Trend ที่ชัดเจนหรือเคลื่อนไหวแบบ Sidway ผู้ใช้งานควรระมัดระวังและพิจารณาการใช้อินดิเคเตอร์เสริมเพื่อยืนยันสัญญาณ
  • ขาดการจัดการความเสี่ยง (Risk Management): หากไม่มีการตั้ง Stop Loss หรือการจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม การเทรดโดยใช้กลยุทธ์นี้อาจนำไปสู่การสูญเสียเงินทุนจำนวนมาก ยกเว้นซะแต่ว่า เทรดเดอร์จะจำกัดความเสี่ยงด้วยออกเข้า Position ในระดับที่ไม่เกิน 1-2% ของพอร์ตทั้งหมด
  • ไม่สามารถรับประกันกำไรได้: แม้กลยุทธ์ CCI + MA จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไร แต่ไม่มีระบบการเทรดใดที่สามารถรับประกันผลกำไรได้ 100% การเทรดทุกครั้งมีความเสี่ยงเสมอ
  • การเทรดระยะสั้นและ Scalping: การเทรดในกรอบเวลาสั้น เช่น M5 หรือ M15 อาจเพิ่มความกดดันและความเสี่ยง เนื่องจากต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และการเคลื่อนไหวของราคามีความผันผวนสูงในกรอบเวลาสั้น

การลงทุนในตลาด Forex มีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนควรพิจารณาความเหมาะสมกับเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก่อนการลงทุน

สรุป

Commodity Channel Index (CCI) เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง “ราคา” และ “แนวโน้ม” โดยเฉพาะในตลาดที่มีความผันผวนสูง การใช้งาน CCI ไม่เพียงช่วยให้นักลงทุนระบุแนวโน้มของตลาด แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไรและลดความเสี่ยงในการเทรด อย่างไรก็ตาม การใช้ CCI อย่างเหมาะสมจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์ควบคู่ไปกับเครื่องมืออื่น ๆ และการประยุกต์เข้ากับกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม

แหล่งอ้างอิง

 

เขียนโดย

Pakornkiat Poonsuk

ผู้ตรวจทานความถูกต้อง

Chonthicha Poomidon