ในโลกของการเทรด Forex การเลือกโบรกเกอร์ที่น่าเชื่อถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักเทรดทั่วโลก และหนึ่งในสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าโบรกเกอร์นั้นเชื่อถือได้คือการมีใบอนุญาต (License) จากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินระดับสากล ซึ่ง CySEC หรือ Cyprus Securities and Exchange Commission ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับความน่าเชื่อถือและยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการการเงินครับ

ใบอนุญาต CySEC คืออะไร

CySEC ย่อมาจาก Cyprus Securities and Exchange Commission ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของประเทศไซปรัส โดย CySEC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2001 โดยมีหน้าที่หลักคือการกำกับดูแลตลาดทุน และการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนในไซปรัสครับ

หน่วยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ European Securities and Markets Authority (ESMA) ซึ่งหมายความว่ากฎระเบียบที่ CySEC ใช้นั้นเป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU) ครับ

ในส่วนของ CySEC กำกับดูแลโบรกเกอร์หลายแห่งในอุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบรกเกอร์ Forex และ CFD ด้วยเหตุนี้ CySEC จึงได้รับความสนใจอย่างมากจากเทรดเดอร์ที่ต้องการความมั่นใจว่าโบรกเกอร์ที่พวกเขาใช้งานนั้นปลอดภัยและโปร่งใส

CySEC เป็นองค์กรของรัฐหรือป่าว

ใช่ครับ!! CySEC เป็นองค์กรของรัฐที่ดำเนินงานภายใต้รัฐบาลของประเทศไซปรัส ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่น่าเชื่อถือระดับหนึ่ง นอกจากนี้ CySEC ยังมีอำนาจในการตรวจสอบและควบคุมบริษัทการเงิน รวมถึงโบรกเกอร์ Forex อีกด้วยจ้า แต่ CySEC ก็ต้องทำงานภายใต้ ESMA (องค์การกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งยุโรป) เพื่อให้แน่ใจว่ามีการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งสหภาพยุโรป ปลอยภัยและโปร่งใสไงล่ะ

รูปที่ 1 CySEC จับมือกับ ESMA ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงในการลงทุน

บทบาทและหน้าที่ของ CySEC

บทบาทและหน้าที่ของ CySEC มีความสำคัญโคตร ๆ ในการกำกับดูแลตลาดทุนและการเงินในประเทศไซปรัส โดยมีภารกิจหลักในการรักษาความโปร่งใสและคุ้มครองผู้ลงทุน รวมถึงรักษามาตรฐานทางการเงินให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์สากล หน้าที่ของ CySEC สามารถสรุปได้ดังนี้จ้า

  • กำกับดูแลและควบคุมตลาดทุน
  • CySEC มีหน้าที่กำกับดูแลบริษัทที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในไซปรัส เช่น โบรกเกอร์ Forex, บริษัทลงทุน, บริษัทประกันภัย, และกองทุนรวม
  • หน่วยงานนี้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎหมายการเงินของประเทศและกฎระเบียบของสหภาพยุโรปครับ
  • คุ้มครองผู้ลงทุน
  • หนึ่งในบทบาทสำคัญของ CySEC คือ การคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ลงทุน โดยกำหนดกฎระเบียบที่ช่วยให้การลงทุนมีความปลอดภัยและโปร่งใสมากขึ้น
  • ตัวอย่างเช่น การแยกบัญชีของลูกค้าออกจากบัญชีของบริษัท เพื่อป้องกันการนำเงินของลูกค้าไปใช้โดยไม่ถูกต้อง
  • บังคับใช้กฎหมายการเงิน

CySEC มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายการเงิน รวมถึงการตรวจสอบ และลงโทษบริษัทที่ไม่ทำตามกฎระเบียบ ซึ่งใครไม่ยอมทำตามก็จะโดนสั่งปรับ, เพิกถอนใบอนุญาต, และดำเนินคดีทางกฎหมายครับ

  • ให้ใบอนุญาตและรับรองบริษัทการเงิน

ทาง CySEC มีหน้าที่ ตรวจสอบและอนุมัติบริษัท ที่ต้องการทำกิจการทางการเงิน เช่น

  • โบรกเกอร์ Forex
  • บริษัทลงทุน
  • กองทุนรวม

โดยบริษัทพวกนี้เขาจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างโหด หลายขั้นตอน ก่อนที่จะออกใบ License ให้

  • จัดการและกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูล

CySEC มีบทบาทสำคัญในการป้องกันการฟอกเงินและการจัดหาเงินทุนสำหรับการก่อการร้าย โดยกำหนดกฎระเบียบและตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลปฏิบัติตามกฎหมายการป้องกันการฟอกเงิน

  • ควบคุมและป้องกันการฟอกเงิน (AML)

เขามีหน้าที่ป้องกันการฟอกเงินและการจัดหาเงินทุนสำหรับการก่อการร้าย ซึ่งรายละเอียดจะบอกในหัวข้อถัดไปครับ

  • สร้างมาตรฐานทางการเงินที่สอดคล้องกับสหภาพยุโรป

CySEC ทำงานร่วมกับ ESMA เพื่อให้ตลาดการเงินของไซปรัสมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

  • ส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนและการเงิน

อีกหนึ่งหน้าที่ของเขาคือการสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนและการเงินของไซปรัส โดยส่งเสริมความน่าเชื่อถือและมาตรฐานการปฏิบัติงานของบริษัทในตลาดการเงิน และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

รูปที่ 2 สรุปบทบาทและหน้าที่ของ CySEC ที่มีต่อผู้ใช้บริการ

ระเบียบเบื้องต้นของ CySEC

ถึงแม้ CySEC จะมีกฎระเบียบเยอะมาก แต่เราจะมาสรุป 8 ข้อหลักๆ ที่สำคัญและควรรู้เอาไว้ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นกันครับ

  • การขอรับใบอนุญาต

บริษัทไหนที่ต้องการใบอนุญาต จะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดตามกฎหมายการเงินของไซปรัสและมาตรฐานของสหภาพยุโรป ซึ่งกระบวนการนี้ประกอบด้วยการตรวจสอบโครงสร้างองค์กร, การบริหารจัดการทางการเงิน, และนโยบายการคุ้มครองลูกค้าครับ

  • การแยกบัญชีลูกค้า

บริษัทที่ได้รับการอนุมัติจาก CySEC ต้องแยกเงินของลูกค้าออกจากเงินของบริษัท เพื่อป้องกันการนำเงินของลูกค้าไปใช้ในธุรกิจของตนเอง

  • การเปิดเผยข้อมูล

บริษัทที่จะขอใบอนุญาตต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินอย่างโปร่งใส ไม่หมกเม็ด ต้องรายงานสถานะทางการเงิน ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยง และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานด้วย

  • กฎการป้องกันการฟอกเงิน (AML)

ผู้ที่ต้องการขอใบอนุญาตจะต้องทำตามกฎของ AML ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบตัวตนของลูกค้า การตรวจสอบธุรกรรมที่น่าสงสัย และการรายงานการกระทำที่เป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือการจัดหาเงินทุนสำหรับการก่อการร้าย

  • การบริหารความเสี่ยง

ผู้ที่ต้องการขอ License จะต้องมีนโนบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน

  • การตรวจสอบและการปฏิบัติตามข้อกำหนด

อันนี้เป็นที่แน่อนครับว่าหากโบรกเกอร์ไหนถูกร้องเรียนมา เขาจะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหากทำผิดจริงก็จะโดนลงโทษไปตามระเบียบที่วางเอาไว้

  • การป้องกันการชักจูงที่ไม่เป็นธรรม

โบรกเกอร์ หรือ บริษัท จะต้องให้ข้อมูลความเสี่ยงแก่ลูกค้าอย่างครบถ้วนและไม่ชักจูงให้ลงทุนกับสินทรัพย์ที่ไม่เหมาะสม หรือ ชักจูงแบบไม่แฟร์

  • การชดเชยผู้ลงทุน

ในเคสที่โบรกเกอร์หรือบริษัทการเงินประสบปัญหาทางการเงินหรือเกิดล้มละลาย CySEC มีระบบกองทุนชดเชยผู้ลงทุน (Investor Compensation Fund: ICF) ที่จะให้การชดเชยกับผู้ลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียเงินทุนของผู้ลงทุน

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Vision, Mission, Values & Responsibilities บนเว็บไซต์หลักของ CySEC ครับ

รูปที่ 3 สรุประเบียบเบื้องต้นของการเข้าร่วม CySEC

CySEC กำกับดูแลใครบ้าง

ตอนนี้ CySEC ให้การดูแลอยู่ 7 ภาคส่วนหลัก ๆ คือ

  1. โบรกเกอร์ Forex และ CFD ต่าง ๆ
  2. บริษัทการลงทุน
  3. กองทุนรวมที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทุนและบริษัทจัดการกองทุน
  4. บริษัทประกันภัยและบริการที่เกี่ยวข้อง
  5. บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน
  6. บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
  7. ผู้ดูแลระบบการเงิน เช่น บริษัทบัตรเครดิต บริษัทโอนเงิน

ครอบคลุมกลุ่มคนในประเทศไหนบ้าง

  1. คนในประเทศไซปรัส
  2. คนในสหภาพยุโรป

ใบอนุญาต CySEC น่าเชื่อถือไหม?

น่าเชื่อถือครับ!! เนื่องจาก CySEC มีมาตรฐานการควบคุมดูแลที่ดีจนได้รับการจัดอันดับให้เป็น Regulator Rank A หรือ อยู่ใน Tier 1 ครับ

ข้อกำกับของ CySEC ที่น่าสนใจ

สิ่งที่น่าสนใจของ CySEC สำหรับผู้เขียนแล้วมีอยู่หลัก ๆ 5 ข้อครับ ซึ่งรายละเอียดของทั้ง 5 ข้อก็ได้ระบุเอาไว้ข้างต้นแล้ว มาดูกันว่า 5 ข้อดังกล่าวจะมีอะไรบ้าง

  1. การแยกบัญชีของลูกค้า
  2. การป้องกันการฟอกเงิน
  3. การคุ้มครองผู้ลงทุน
  4. การเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน
  5. CySEC ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน MiFID II (2018) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่ครอบคลุมและเข้มงวดในการให้บริการทางการเงินครับ

เงื่อนไขในการรับใบอนุญาต Forex ของ CySEC

เงื่อนไขในการรับใบอนุญาต Forex จาก CySEC เนี่ยไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นะครับ ซึ่งเรื่องนี้ผมพอจะทราบมาประมาณนี้ครับว่า

  1. ต้องมีทุนขั้นต่ำที่กำหนด
    1. บริษัทที่จัดการพอร์ตการลงทุนเท่านั้น จะต้องมีขั้นต่ำที่ 125,000 ยูโร
    2. โบรกเกอร์ ต้องมีเงินทุนขั้นต่ำ 730,000 ยูโร
    3. บริษัทที่ให้บริการการลงทุนอื่น ๆ ต้องมีทุนขั้นต่ำที่ 50,000 ยูโร
  2. ต้องแยกบัญชีของลูกค้าออกจากบัญชีบริษัท
  3. ต้องทำตามระเบียบมาตรฐานการฟอกเงิน AML
  4. โบรกเกอร์ต้องมีความโปร่งใส เช่น การเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน
  5. มีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน
  6. ทำตามข้อปฏิบัติของ MiFID II

ในเว็บไซต์ CySEC ไม่ได้มีการให้ข้อมูลที่ละเอียดชัดเจนสักเท่าไหร่ครับ ทำให้ต้องไปพึ่งพาเว็บไซต์ของบริษัทเอกชนที่ให้บริการปรึกษาการจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งให้ข้อมูล ค่าใช้จ่ายในการขอ Cyprus Forex License   ได้ชัดเจนกว่ามากๆเลยครับ มีทั้งเรื่องขั้นตอน เงื่อนไข และค่าใช้จ่าย

วิธีตรวจสอบใบอนุญาต CySEC ยังไง

  1. เข้าไปที่ website CySEC -> Click
  2. มองไปที่ช่อง Search แล้วพิมพ์ชื่อ โบรกเกอร์ Forex ที่ต้องการตรวจสอบ
  3. ตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ บนหน้า website

รูปที่ 4 ตัวอย่างการตรวจสอบ License ของโบรกเกอร์ผ่าน CySEC

ประวัติ หรือ ข่าว ระหว่าง CySEC กับ โบรกเกอร์

ในโลกการเงินที่เต็มไปด้วยโบรกเกอร์ Forex มากมาย หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง CySEC ก็ไม่เคยหลับใหล พวกเขาพร้อมลงโทษทุกสถาบันการเงินที่ทำผิดกฏอย่างไม่ปราณี ถือว่าเหมาะสมกับระดับ Tier 1 ในวงการหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินครับ มีตัวอย่าง Forex Broker ที่โดนปรับกันไปครับ

  1. IC Markets โดนปรับ 200,000 ยูโร (7 ล้านกว่าบาท) เพราะไม่ทำตามกฏเกี่ยวกับการคุ้มครองหลักประกันเริ่มต้นสำหรับลูกค้ารายย่อยที่เทรด Contracts for Differences (CFDs)
  2. BDSwiss ก็เป็นอีกหนึ่งโบรกเกอร์มีชื่อเสียงที่ถูกลงโทษเช่นกัน โดยข้อหาที่เขาโดนคือไม่ได้ให้คำเตือนความเสี่ยงที่จำเป็นกับลูกค้า แถมยังใจป้ำดึงดูดลูกค้าด้วยการไม่เก็บเงิน margin ทำให้โดนปรับไปเบาๆ 100,000 ยูโร
  3. 1Market แต่ที่พีคสุดต้องยกให้ 1Market โบรกเกอร์นี้(เน้นทำการตลาดในฮังการี) ก็โดน CySEC เล่นงานไป 740,000 ยูโร หรือประมาณ 24 ล้านบาท ข้อหาเพียบ ทั้งแหกกฏ ทั้งแอบให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต งานนี้เจ็บหนักพอตัว

จากแหล่งข่าวบอกว่า 1Market เป็นแค่การปรับโหดอันดับที่ 2 ครับ แชมป์ตลอดกาลของโบรกเกอร์ CFDs ที่โดน CySEC ปรับหนักสุดยังคงเป็นของ Tradewell เจ้าเก่า โดนไปจุกๆ 1 ล้านยูโร ก็ราวๆ 37 ล้านบาท ทำเอาเจ้าอื่นๆชิดซ้ายไปเลย ถ้าใครอยากลองติดตามข่าวต่างๆ เช็กความเคลื่อนไหวของ CySEC สามารถไปดูที่ Announcements ได้นะครับ

โบรกเกอร์ Forex ภายใต้การดูแลของ CySEC

จากการหาข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีหลายโบรกเกอร์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ CySEC ครับ เช่น ATFX, Exness, Pepperstone, FX Pro, XM Group เป็นต้น ซึ่งใครอยากรู้ว่าโบรกเกอร์ที่ตนใช้มีใบอนุญาตของ CySEC หรือป่าว ก็สามารถค้นหาตามแนวทางด้านบนได้ครับ

รูปที่ 5 ตัวอย่างโบรกเกอร์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ CySEC

กองทุนประกันของ CySEC

กองทุนประกัน หรือ Investor Compensation Fund (ICF) ของ CySEC จะให้ความคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยโดยจะชดเชยในกรณีที่โบรกเกอร์ไม่สามารถคืนเงินที่ลูกค้าควรได้รับ ซึ่งวงเงินสูงสุดที่จะได้รับจาก ICF คือ 20,000 ยูโร ต่อเทรดเดอร์หนึ่งรายครับ

วิธีการฟ้องร้อง

  1. รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อทั้งหมด
  2. ยื่นคำร้องต่อ CySEC ผ่าน https://www.cysec.gov.cy
  3. เลือกช่องทางการติดต่อ เช่น email, โทรศัพท์, ไปรษณีย์ ซึ่งที่สะดวกที่สุดน่าจะเป็น email เนอะ
  4. ร่างคำร้องพร้อมรายละเอียดและหลักฐานทั้งหมด จากนั้นส่ง email ไปยังต้นสังกัด
  5. ติดตามผลการตรวจสอบจากการตอบกลับ email
  6. ในกรณีที่ต้องการร้องสอดให้แจ้งไปยัง Financial Ombudsman หรือตัวกลางอื่น ๆ ได้ครับ

สรุป

CySEC (Cyprus Securities and Exchange Commission) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของไซปรัสที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีบทบาทในการควบคุมโบรกเกอร์ Forex และ CFDs เพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรฐานทางการเงินของ EU

CySEC ทำหน้าที่คุ้มครองผู้ลงทุน, ป้องกันการฟอกเงิน, และสนับสนุนความโปร่งใสในตลาดทุน นอกจากนี้ยังมีกองทุนประกัน (ICF) ที่ให้การชดเชยสูงสุดถึง 20,000 ยูโรต่อผู้ลงทุนในกรณีที่โบรกเกอร์ล้มละลาย

อ้างอิง