ก่อนหน้านี้ผมจะกล่าวถึงทฤษฎีราคาอยู่ 2 มุมมอง คือ การดูทฤษฎีราคาที่เป็นรูปแบบเชิงตัวเลขทางคณิตศาสตร์ เช่น Fibonacci และ การทำนายพฤติกรรมราคาโดยใช้รูปแบบของราคาเป็นแบบกลุ่ม เช่น Price Action และ Price Pattern แต่ทั้งคู่ก็ใช้ในศาสตร์ของพฤติกรรมราคาที่ไม่ใช้ Indicator เลย บทความนี้จะกล่าวถึง Indicator ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Indicator ที่เป็นเครื่องมือวัดเทรนด์และ Indicator ที่ใช้สำหรับวัดการแกว่งตัว

การใช้ Indicator ได้รับความนิยมสูงมากกว่า การไม่ใช้ Indicator ในการเทรด วัตถุประสงค์ของการสร้าง Indicator มีขึ้นมาเพื่อจะใช้ในการทำนายพฤติกรรมราคา อาจจะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบอกจุดเข้าเทรดและทำกำไรโดยตรง หรืออาจจะใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเครื่องมืออื่น ๆ อีกที

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาของผู้เทรดคือ การใช้ Indicator ในการเทรดนั้น มักจะไม่ได้สนใจที่มาหลักการของ Indicator เลย แต่ให้ความสนใจกับประสิทธิภาพของ indicator ที่จะนำไปใช้เป็นหลัก ปัญหาก็คือ indicator บางตัวนั้น ไมได้ออกแบบมาเพื่อให้สัญญาณเทรดด้วยซ้ำ บางครั้ง Indicator อาจจะถูกออกแบบมาเพื่อวัดความผันผวนของตลาดก็เท่านั้นเอง

หลักการของ Indicator

หลักการของ indicator นั้นจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นหลัก โดยมากแล้วจะใช้อยู่ 2 หลักการคือ ใช้เพื่อพยากรณ์ราคา และ ใช้เพื่อบอกลักษณะของราคา ณ ปัจจุบัน จะเห็นว่ามันแตกต่างกันตรงที่ใช้สำหรับดูอนาคตและดูปัจจุบันนั่นเอง

Indicator จึงถูกแบบออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ Trend Indicator และ Oscillator Indicator ซึ่งไม่รวม Indicator ที่ใช้ปริมาณเข้าไปนะครับ ใน MT4 ก็จะมีการจัดกลุ่มเพียงเท่านี้เช่นกัน เมื่อมันมีหลักการเพื่อดูราคาและทำนายราคา การใช้งานของ Trend และ Oscillator Indicator จึงมีแค่ 2 วัตถุประสงค์ ทำให้หลาย ๆ ครั้งที่เทรดเดอร์ไม่ได้ดูวัตถุประสงค์ของการสร้าง Indicator

การใช้งานที่ค่อนข้างผิดหลักการ

เมื่อเราไม่ได้ดูวัตถุประสงค์ของการสร้าง Indicator ก็นำไปสู่การใช้งานที่ค่อนข้างผิดหลักการสร้าง ตัวอย่างหนึ่งของ Indicator ที่ใช้งานได้ผิดหลักการมากที่สุดคือ Moving Average หรือ MA Indicator ตัวนี้เป็น Indicator พื้นฐานที่นำไปสร้าง Indicator อื่น ๆ มากมายตามมา เช่น Moving Average Convergence Divergence หรือ MACD หรือ Indicator อื่น ๆ เช่น Alligator ของ Bill William เป็นต้น โดยผมจะอธิบายตัวอย่างของ MACD ไว้สักตัวอย่าง แล้วเราค่อยไปดูประสิทธิภาพและความเหลื่อมล้ำ หรือช่องว่างของการใช้ Indicator ของเทรดเดอร์คนอื่น ในบทความหน้า

Moving Average เป็นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่งของการพยากรณ์ทางสถิติ ในวิชาสถิติประยุกต์ ใช้ในการทำนายพฤติกรรมราคา และการคาดการณ์เป็นส่วนใหญ่

รูปที่  1 Indicator Alligator ซึ่งใช้ Moving Average ในการสร้าง

Moving Average (MA) คือ ค่าเฉลี่ยของราคาของแต่ละกรอบราคา หลังสุดตามจำนวนที่อยากจะกำหนด เช่น ค่า MA 5 ก็คือใช้ 5 คาบเวลาสุดท้ายในการคำนวณ เช่น ถ้าเรากำหนดกรอบเวลาไว้ที่ทุก ๆ 1 ชั่วโมง ก็คือกราฟ TF 1H ถ้ากรอบ 1 วันก็คือ กราฟ Daily กรอบ 1ปี ก็คือ กราฟ 1 Year การใช้ MA 5 สำหรับกราฟ Daily จึงหมายความว่า ใช้ 5 วันสุดท้ายมาคำนวณ

แต่ปัญหาสำหรับการใช้งานใน Forex อย่างหนึ่งคือ มันมีหลายราคาที่จะใช้คำนวณ แล้วจะเลือกราคาไหนหล่ะ ราคาที่มีการบันทึกใน MT4 คือ ราคาปิด ราคาเปิด ราคา high และ ราคา Low จึงมีการนำราคาเหล่านี้มาคำนวณ แล้วมันสะท้อนราคาที่ควรจะเป็นของมันไหม? นี่แหละเป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างหนึ่งของการใช้ Moving Average แต่ก็ต้องละไว้ก่อนเพราะอธิบายทั้งวันก็คงจะไม่จบ

อีกมุมมองหนึ่งของ Moving Average คือ การใช้บอกราคาเฉลี่ย หลักการนี้มีเหตุและผลที่ค่อนข้างยอมรับได้เลยทีเดียว นั่นคือ ถ้าเราเข้าซื้อทุกวัน 5 วันเราจะได้ราคาเฉลี่ยเท่ากับเส้น MA (หมายถึงว่า เข้าซื้อที่ราคาเปิดและใช้ราคาเปิดคำนวณ MA) พอดี นั่นก็หมายความว่า การใช้ MA ลักษณะนี้กำหนดกลยุทธ์การซื้อขาย หรือแบ่งซื้อขายก็สามารถทำได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามเราคงไม่กล่าวถึงกลยุทธ์กันมากนักในบทความเรื่องพฤติกรรมราคา เราลองมาดูว่าในทางสถิติแล้วเขาใช้ Moving Average ในการวิเคราะห์พยากรณ์กันอย่างไรดีกว่า

Time Series Analysis และ Moving Average

รูปที่ 2 องค์ประกอบของสมการในการพยากรณ์โดยใช้ Moving Average
ที่มา: http://www.saedsayad.com/docs/Time%20Series%20and%20Forecasting.pdf

จากสมการในรูปที่ 2 จะเห็นว่าในการหาค่าพยากรณ์ของราคา หรือ Y นั้นจะประกอบด้วย T C S R แล้วมันคืออะไรกันหล่ะ

T = Trend ทิศทางของการเคลื่อนไหวของราคา คือสิ่งที่เราต้องการหา

C = Cycle คือวงจรของการเคลื่อนไหวราคา

S = Season คือ ฤดูการที่ทำให้เกิดผลกระทบของราคา

R =  Random คือ ปัจจัยแบบสุ่มที่เข้ามา

ถ้าหากจะเปรียบเทียบกับราคาสินค้า ผมจะยกตัวอย่างการพยากรณ์ ราคาไข่ไก่ หรือก็คือ ตัว Y ในสมการของเรา ในราคาของไข่ไก่จะมีองค์ประกอบของ Trend คือทิศทางของไข่ไก่ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไข่ไก่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เป็นต้น นั่นคือสิ่งที่เราต้องการหา อย่างไรก็ตามปรากฏว่า ในวงการไข่ไก่มีนักเก็งกำไรที่คอยทำให้มีการกักตุนราคาไข่ไก่ ทำให้ไข่ไก่เกิดแพงขึ้นช่วงมีการกักตุน และช่วงทำกำไรทำให้ไข่ไก่ถูกลงเนื่องจากมีการปล่อยขายทำกำไร อย่างนี้เรียกว่า มีวงจรของนักลงทุนที่อยู่ในตลาด เรียกว่า Cycle ของมัน นอกจากราคาไข่ไก่จะมีวงจรของนักลงทุน นักเก็งกำไรแล้ว ในฤดูร้อน ไข่ไก่จะให้ผลผลิตน้อย เพราะไก่ต้องเผชิญกับความเครียด ทำให้ปัจจัยนี้เรียกว่า ฤดูกาลของมันที่ส่งผลกระทบกับราคา และสุดท้าย บางฟาร์มต้องเจอกับโรคระบาด จนทำให้ไข่ไก่ขาดตลาด เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์แบบสุ่มที่ไม่ค่อยเจอกันทุกที่ เมื่อโรคระบาดเกิดขึ้นทำให้ไก่ตายและปริมาณไข่ผลิตได้น้อยลงทำให้ราคาสูง การวิเคราะห์โดยใช้ MA ใน Time Series Analysis จึงมุ่งที่ขจัดปัจจัย CSR 3 ตัวออกไปเพื่อให้เหลือแค่ทิศทางของราคาไข่ไก่ แล้วใช้มันทำนายแค่ 1 ช่วง หรือพูดง่าย ๆ แค่ 1 แท่งเทียนเท่านั้น เพราะว่ายิ่งทำนายออกไปไกลยิ่งทำให้มันแม่นยำลดลง

เป็นยังกันบ้างครับกับวิธีการที่นักวิชาการนำเสนอ

จากวิธีการข้างต้นจะเห็นว่า วิธิการที่ใช้มันผิดกันกับที่เราใช้ในการเทรด Forex อยู่มากทีเดียว นั่นเพราะว่า เราคิดว่า ถ้าเส้น MA 2 เส้นตัดกันก็บอกว่ามันเป็นเทรนด์ขาขึ้นเท่านั้น แต่หลักการของเส้น MA อาจจะมีมากกว่านั้น เมื่อเราไม่ได้ศึกษาให้ดีก็จะทำให้มันใช้งานอย่างผิดวัตถุประสงค์ไปได้ แต่ผมก็ยังไม่ได้บอกนะครับว่า วิธีการที่ใช้ในเชิงวิธีการแบบ Time Series Analysis นั้นจะให้ความแม่นยำ แค่แสดงตัวอย่างในมุมมองคนอื่น เฉย ๆ

 

ทีมงาน : www.thaibrokerforex.com

เส้น

เขียนโดย

Rattapoom Jitjaroen

ผู้ตรวจทานความถูกต้อง

Chatchawal Nakcharoen